เมื่อพูดถึงความสวยงามของวัสดุประเภทหินที่ถูกนำมาใช้ในงานตกแต่ง งานสถาปัตยกรรม หรืองานเฟอร์นิเจอร์ ชื่อของหินอ่อนและหินแกรนิต จะเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่ผู้คนต่างชื่นชอบ ด้วยความสวยงาม หรูหรา มีระดับ จากลวดลายและสีสันเฉพาะตัว เหมาะแก่การสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าประทับใจไม่ว่าจะเป็นการทำผนัง พื้น เฟอร์นิเจอร์ แต่รู้หรือไม่แท้จริงแล้วหินทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันพอสมควร เราลองมาศึกษาข้อมูลแบบครบถ้วนทุกด้านเพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนเลือกใช้งานได้อย่างตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุด
- การกำเนิดของหิน
- ลักษณะทางกายภาพของหิน
- ความแข็งแรงทนทานของตัวหิน
- รูปแบบของหินก่อนนำไปใช้งาน
- วิธีดูแลรักษา
1. การกำเนิดของหิน
หินอ่อน จัดอยู่ในกลุ่มหินแปรเนื้อละเอียดประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นจากการตกผลึกสะสมเป็นก้อนตามธรรมชาติผ่านการทับถมมาเป็นระยะเวลานานของหินปูน หรือที่เรียกว่า”แคลเซียมคาร์บอเนต” โดยการตกตะกอนทับถมนี้อาจเกิดในท้องน้ำ ท้องทะเล มหาสมุทร นานนับหลายร้อยหลายพันล้านปี โดยระหว่างนั้นเกิดสภาพการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาด้วยเรื่องของ อุณหภูมิ ความดัน การเคลื่อนไหวพื้นใต้น้ำ มีการยุบตัวสลับกับการดันตัว จนกระทั่งกลายสภาพเป็นหินอ่อนนั้นเอง
หินแกรนิต จัดอยู่ในกลุ่มหินอัคนีที่เกิดจากลาวาหรือแมกมาค่อย ๆ เย็นตัวลง จากนั้นจึงเกิดการตกผลึกของแร่ธาตุ และผนึกตัวกันเป็นก้อนขนาดใหญ่ เนื้อสัมผัสมีความหนาแน่นเสมอกัน แข็งแกร่ง และมีความมันวาว
2. ลักษณะทางกายภาพของหิน
หินอ่อน ลักษณะเบื้องต้นอย่างที่กล่าวไปกว่าจะมีเนื้อสัมผัสที่ใส ละเอียด จึงบ่งบอกถึงความหรูหรา มีระดับ แต่ก็ผสานความอ่อนโยนภายในตัวได้อย่างกลมกลืน โทนสีที่พบตามธรรมชาติมักเป็นสีอ่อนไปจนถึงเข้มแค่ปานกลางเท่านั้น มีน้ำหนักเยอะ และถ้าเจอกับกรดมักเกิดรอยด่างได้ง่าย
หินแกรนิต ลักษณะของตัวหินมักมีความหยาบกระด้างกว่าหินอ่อน บางก้อนเป็นดอกแบบมีผลึกเกาะ จึงสัมผัสถึงความแข็งแรงทนทาน สีสันออกไปโทนสีเข้มปานกลางจนดำสนิท
มีลวดลายตามธรรมชาติสะดุดตา เนื้อหินแน่นเสมอกัน
3. ความแข็งแรงทนทานของตัวหิน
สำหรับหินอ่อน หินแกรนิต จะมีความทนทานที่แตกต่างกันชัดเจนพอควรเมื่อถูกนำมาใช้งาน ปกติแล้วหากหินแกรนิตจะแข็งแรงกว่า ช่วยป้องกันการโดนกรดหรือรอยขีดข่วนแล้วสีสัน ลวดลาย ไม่เกิดความเสียหาย ไม่มีคราบ รอยไหม้ หรือรอยแตกแม้ถูกกระแทกด้วยของแข็ง หรือการสัมผัสกับของมีคม ต่างจากหินอ่อนที่มักเป็นรอยหรือเกิดคราบได้ง่าย ที่สำคัญเนื้อหินจะบอบบางกว่า ไม่ทนต่อความร้อน จึงมักถูกนำไปใช้งานแกะสลักสร้างความสวยงามมากกว่าการใช้เพื่อเน้นความแข็งแรง
4. รูปแบบของหินก่อนนำไปใช้งาน
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหิน แต่การเตรียมพร้อมเพื่อนำไปใช้มีความต่างกันพอควร ปกติแล้วหินอ่อนและหินแกรนิตต้องผ่านการเคลือบสารเพื่อสร้างความเงางาม เพิ่มความแข็งแรงทนทาน และป้องกันการเกิดคราบต่าง ๆ แต่สำหรับหินอ่อนด้วยลักษณะที่มีความละเอียด อนุภาคภายในของเม็ดหินเรียงตัวหนาแน่นสูง สารที่เคลือบลงไปจึงไม่ค่อยแทรกซึมเข้าสู่ภายในเนื้อหินมากนัก
ด้วยเหตุนี้การนำหินอ่อนมาใช้จึงต้องผ่านการเคลือบผิวภายนอกบ่อยครั้ง หรือแม้แต่ระหว่างการใช้งานมักทำการเคลือบทับอยู่ตลอดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยคราบ หรือความสกปรกต่าง ๆ นั่นเอง
ทางด้านของหินแกรนิต ด้วยเม็ดหินภายในไม่ได้เรียงตัวหนาแน่นเท่าหินอ่อน จึงมีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างเม็ดหินมากกว่า พอทำการเคลือบแล้วสารจะซึมผ่านเข้าสู่ภายในได้ง่าย ช่วยในการยึดเกาะเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน ดังนั้นการเคลือบแค่เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่ช่วยป้องกันไม่ให้หินแกรนิตเกินคราบสกปรกหรือรอยขีดข่วนใด ๆ เมื่อนำไปใช้งาน
5. วิธีดูแลรักษา
หินอ่อน ด้วยเนื้อหินที่เกิดรอยต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า อีกทั้งสารเคลือบก็เข้าถึงอนุภาคภายในยาก ในกรณีเจอกรด ด่าง ก็เป็นคราบ จึงไม่นิยมนำมาทำเคาน์เตอร์ พื้นโต๊ะ หรืออื่นใดที่มีโอกาสเกิดรอยขีดข่วนสูง ดังนั้นจึงมักนิยมใช้กับงานแกะสลักที่ไม่ค่อยมีใครสัมผัส และช่างที่แกะต้องมีฝีมือและความประณีตสูงมาก
หินแกรนิต ด้วยความแข็งแรงกว่าหลายเท่า จึงนิยมนำไปทำทั้งผนัง พื้นบ้าน เคาน์เตอร์ครัว และอื่น ๆ การดูแลก็ไม่ต้องพิถีพิถันมากนัก แค่ระวังอย่าให้ของมีคมแหลม ๆ สัมผัสโดน และคอยทำความสะอาดให้บ่อย เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
เชื่อว่าหลังจากเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างหินอ่อนและหินแกรนิต จะช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจในการเลือกวัสดุเพื่อนำไปใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ก็อย่าลืมคิดถึงเรื่องราคา ความคุ้มค่า และความเหมาะสมของวัสดุดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ต้องเสียดายเงินภายหลัง